สวัสดีคุณครูทุกท่านครับ วันนี้ปันสื่อฟรี ขอนำเสนอ ตราครุฑ ไฟล์ png ไม่มีพื้นหลัง ไฟล์ปี 2567 ดาวน์โหลดไว้ใส่ เอกสารราชการไทย ดาวน์โหลดได้ที่นี่
ดาวน์โหลดดาวน์โหลดไว้ใส่ เอกสารราชการไทย
ตราครุฑ หมายถึง
“ตราพระครุฑพ่าห์” หรือ ตราแผ่นดินของไทย คือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติ และเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ตามแนวคิดสมมุติเทพ
“ครุฑ” เป็นสัตว์กึ่งเทพ เป็นพญาแห่งนกทั้งมวล ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สุบรรณ” ซึ่งหมายถึง “ขนวิเศษ” ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ มีบทบาทปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายต่อหลายเรื่อง นับตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณเล่ากันว่า ครุฑกับนาคเป็นพี่น้องต่างมารดา วันหนึ่งทั้งสองมีเหตุให้ผิดใจกัน จนกลายเป็นศัตรูต่อกันในเวลาต่อมา และคนไทยรู้จักครุฑ ในฐานะที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์ จากตำนานที่ว่า พระนารายณ์ได้สู้รบกับพญาครุฑ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระนารายณ์ให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะ และให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระนารายณ์
ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงมีการสร้าง รูปครุฑพ่าห์ หรือ รูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นไทยได้รับลัทธิเทวราชาของอินเดีย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ คือ อวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น ต่อมามีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ
ตราพระครุฑพ่าห์ ได้ถูกเลิกใช้ชั่วคราวในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินใน พ.ศ. 2416 แต่ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริว่า ตราอาร์มที่ใช้เป็นตราแผ่นดินในเวลานั้นเป็นอย่างฝรั่งเกินไป และทรงระลึกได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยใช้ตราพระครุฑพ่าห์มาก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ขึ้นเป็นตราแผ่นดินเพื่อใช้แทนตราอาร์ม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา แต่มาใช้อย่างเต็มที่แทนตราแผ่นดินเดิมทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2453
การใช้ตราพระครุฑพ่าห์ จะใช้สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ หรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งลงนามแทนในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ก็ยังใช้เป็นตราประจำสถานที่ราชการต่างๆ ของรัฐบาลไทย และใช้พิมพ์เป็นตราบนหัวหนังสือและเอกสารต่างๆ ของทางราชการ เช่น ราชกิจจานุเบกษา หนังสือโต้ตอบ กฎกระทรวง ฯลฯ ยกเว้นที่หัวพระราชบัญญัติ พระบรมราชโองการ หรือคำสั่งอื่น ๆ ในองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ จะใช้พระราชลัญจกรบรมราชโองการแทน
ตราพระครุฑพ่าห์ หรือ ตราครุฑ ในหนังสือราชการไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
แบบแรก ครุฑเท้าตั้งหรือครุฑดุน จะใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น
แบบที่สอง ครุฑเท้าเหยียดตรง จะใช้เป็นตราราชการของกรมราชองครักษ์ และหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงใช้บนหน้าปกราชกิจจานุเบกษา และหนังสือเดินทาง
โดยครุฑเท้าเหยียดตรง ใช้ในหนังสือราชการปกติ สามารถแบ่งได้อีก 2 แบบ คือถ้าใช้ในหนังสือราชการภายนอก จะใช้ขนาดสูง 3 เซนติเมตร ถ้าใช้ในหนังสือราชการภายใน จะใช้ขนาดสูง 1.5 เซนติเมตร
นอกเหนือจากการที่ตราครุฑปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑ หรือตราแผ่นดินประดับเป็นตราตั้งไว้ในกิจการของตนได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ 5 โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต โดยเอกชนที่ได้รับพระบรมราชานุญาตมักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนักโดยสุจริต และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ในสิทธิที่จะเรียกคืนตราดังกล่าวได้
ในปัจจุบันบริษัทที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑประดับหน้าอาคาร ได้แก่
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย, ธนาคารกรุงเทพ, บริษัท วรจักรยนต์ จำกัด, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด, บริษัท คอลเกต ปาล์มโอลีฟ, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (โรงแรมเซ็นทารา), บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด (นมตรามะลิ) เป็นต้น