วันอาทิตย์, ธันวาคม 8, 2024

ติดต่อลงโฆษณา โทร : 065 334 8667 (คุณจิรภัทร แสงจันทร์)

หน้าแรกไม่จัดหมวดหมู่มาทำความรู้จักการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน Technologybased Learning 4 ตัวอย่าง

มาทำความรู้จักการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน Technologybased Learning 4 ตัวอย่าง

สวัสดีคุณครูทุกท่านครับ วันนี้ปันสื่อฟรี ขอนำเสนอ มาทำความรู้จักการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน Technologybased Learning 4 ตัวอย่าง

Technologybased Learning 4 ตัวอย่าง

1. แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน  ปัจจุบันนี้ก็จะเห็นว่าพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก็จะมีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลให้การทำงานมีความสร้างสรรค์มากขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะมีงานหรืออาชีพที่เป็นงานสร้างสรรค์ เช่น การวิจัย การพัฒนา การออกแบบ  หรือกระทั่งการตลาดและงานขาย ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนา ลักษณะงานที่ทำจะเน้นเครื่องจักรและงานที่ทำโดยแรงงานคน  แรงงานเหล่านี้ก็จะลดปริมาณลงไปเรื่อย ๆ เพราะทุกงานจะใช้เทคโนโลยีมาทดแทน  เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนรู้ จึงต้องเร่งพัฒนาให้มีสมรรถนะในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพซึ่งสมรรถนะก็เป็นผลเนื่องมาจากการมีความรู้  มีทักษะ  ที่สำคัญก็คือมีคุณลักษณะที่มีอยู่ในตนเอง นำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผล 

        สำหรับสมรรถนะในปัจจุบันนี้ก็จะเป็นการทำงานเชิงสร้างสรรค์  ซึ่งมีความต้องการอย่างมาก การที่ผู้เรียนจะมีสมรรถนะในด้านใดด้านหนึ่งนั้น จำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง  ฉะนั้นผู้เรียนในปัจจุบันต้องมีศักยภาพหลากหลาย 

        จากการสังเกตผู้เรียนเขาจะมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลอื่นในประเด็นที่พวกเขานั้นสนใจ  ที่สำคัญอย่างยิ่งเขามีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นผู้สอนยุคใหม่ควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนและนำมาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ให้ตอบสนองกับธรรมชาติและความต้องการของผู้เรียน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยี และธรรมชาติของเด็ก ๆ ในทุกวันนี้ก็คือ ความสนใจ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ทำให้การเรียนรู้ยุคใหม่มีการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น 

        สำหรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน เรียกว่า Technology-based Learning เป็น Platform ในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ที่ครูกำหนดไว้ สำหรับองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน  ก็จะมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

        – มีเนื้อหาที่เป็น Digital Content ซึ่งอาจจะเป็นเนื้อหาที่เป็นข้อความภาพหรือจะเป็นคลิปต่าง ๆ

        – มีอุปกรณ์ Digital ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงเนื้อหา Digital Content ได้

        – กระบวนการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้ จำเป็นที่คุณครูทุกท่านจะต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ 

        สำหรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานนั้นก็จะมีหลักการสำคัญดังต่อไปนี้ 

หลักการที่ 1 การใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับผู้เรียน เหมาะสมกับระดับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้เรียน ก็จะทำให้สามารถจะใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หลักการที่ 2 การผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างหลากหลายจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ ผู้เรียนจะเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น 

หลักการที่ 3 สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ การตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญมากที่สุด     

        สำหรับลักษณะของการจัดการเรียนรู้โดยจะใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ก็จะมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้ 

ประการที่ 1 ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสื่อออนไลน์หรือสื่อจากระบบคอมพิวเตอร์ 

ประการที่ 2 มีเนื้อหาดิจิทัลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ 

ประการที่ 3 เป็นการเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลของผู้เรียน เรียกว่า “Personalized learning”

ประการที่ 4 ผู้สอนก็จะมีบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

ประการที่ 5 การมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้เรียน 

ประการที่ 6 การเรียนรู้ในเนื้อหาที่มีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันจะเป็นจุดแข่งของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

ประการที่ 7 ความยืดหยุ่นทางด้านเวลาและวิธีการเรียนรู้โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่

        สำหรับปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่ผู้เรียนทุกคนนั้นมีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่เป็นดิจิทัล  เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ Smart Phone หรือเเท็บเล็ตต่าง ๆ เรียกว่าเป็น Mobile Learning เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้  ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านเทคโนโลยีไร้สายซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางและขยายขอบเขตของการเรียนรู้ในโลกดิจิทัลอย่างไม่มีข้อจำกัด ฉะนั้นผู้สอนยุคใหม่ จึงต้องมีการผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ ในกระบวนการจัดการเรียนรู้เรียกว่า Learning Process เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แล้วยังต้องบูรณาการความรู้ที่เป็นสาระสำคัญหรือที่เรียกว่าเป็น Main Contept รวมทั้งสมรรรถนะและคุณลักษณะของผู้เรียน

        สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ครูนั้นจะต้องนำมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน   ในลักษณะที่เรียกว่าเป็น “Didital learning” Platfrorm Digital มากขึ้น  ผู้เรียนจะสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดเวลา   ส่วนการผสมผสานเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้นั้น นำมาสอดแทรกไว้ในกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อาจจะอยู่ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งหรือหลายขั้นตอน  เช่น การให้ผู้เรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ศึกษาเนื้อหาสาระจากคลิปวีดีโอต่าง ๆ และจะให้ดียิ่งขึ้น คือ ผู้สอนต้องมีคลิปวีดีโอที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า มีความทันสมัย แล้วตอบโจทย์ธรรมชาติของผู้เรียนในปัจจุบัน 

        สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ จะต้องมีการวิเคราะห์ผู้เรียน  การวิเคราะห์ผู้เรียนตรงนี้จะมีประโยชน์อย่างมากเพราะจะทำให้ทราบลักษณะธรรมชาติและความต้องการ นอกจากนี้ก็ยังต้องมีการวิเคราะห์สาระสำคัญหรือ Main Concept ที่อยู่ในหลักสูตร  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้ รวมทั้งการวิเคราะห์เทคโนโลยี จะใช้เทคโนโลยีอะไรในการจัดการเรียนรู้ เมื่อวิเคราะห์แล้ว จึงนำไปสู่การออกแบบการจัดการเรียนรู้  โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน แนะนำว่าทุกอย่างต้องผสมผสานกันอย่างลงตัว จึงดำเนินการจัดการเรียนรู้และประเมินผลตามสภาพจริงต่อไป

        นอกจากนี้ ผู้สอนควรจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยี ถ้ามีทักษะในการใช้เทคโนโลยี จะออกแบบการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ 

ประการที่ 1 ทักษะการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ควรจะต้องผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ากับ Main concept และกระบวนการเรียนรู้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว 

ประการที่ 2 สิ่งที่ครูต้องพัฒนา คือ ทักษะการออกแบบ  Platform การเรียนรู้ในลักษณะที่เป็นการเรียนรู้ออนไลน์ 

ประการที่ 3 การสร้างเนื้อหาดิจิทัลหรือ Digital Content โดยการพัฒนาทักษะทั้ง 3 ด้าน จะช่วยให้คุณครู สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานได้อย่างมีคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  และก็ตอบสนองความต้องการของเด็กนักเรียน

        การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนและผู้สอนมีบทบาทในระหว่างการจัดการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้ 

ประการที่ 1 การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ 

ประการที่ 2 การเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้เรียน 

ประการที่ 3 การกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสนับสนุนการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีนั้นจะมีหลายประเภท หลายลักษณะ 

ประการที่ 4 การเสริมสร้างให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม  เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญและสิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องกระตุ้นเรื่องวินัยในตนเองของผู้เรียน  ถ้าหากมีวินัยในตนเองก็จะเป็นเกราะคุ้มภัย เวลาที่เข้าไปเรียนรู้ในโลกออนไลน์   

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ทางผู้จัดทำก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้บริหารและคุณครูทุกท่าน จะได้ความรู้ ความเข้าใจในหลักการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

2. การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

หลักการสำคัญของการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การยึดความต้องการของผู้เรียน ที่เรียกว่า  Demand Side เป็นตัวตั้งในการออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ เพราะการออกแบบการเรียนรู้ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้อย่างแท้จริงจะช่วยทำให้ผู้เรียนนั้นมีความกระตือรือร้น ตื่นตัวและอยากเรียนรู้ในสิ่งนั้น   ฉะนั้นผู้สอนจึงต้องยึดความต้องการของผู้เรียนเป็นตัวตั้งและออกแบบการจัดการเรียนรู้ 

        สิ่งสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การเปิดใจกว้างของผู้สอน เรียกว่า Open Mind ในการที่จะให้โอกาสผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนการเรียนรู้และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน จะเป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี  ผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่  พื้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นพื้นที่ของการคิดและการใช้ศักยภาพของตนเอง ในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 

ประการที่ 1 การกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้หรือสิ่งที่ตนเองต้องการประสบการความสำเร็จในการเรียนรู้

ประการที่ 2 การออกแบบและใช้วิธีการเรียนรู้ของตนเองตามที่ถนัดและสนใจ 

ประการที่ 3 การมีโอกาสได้ประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเอง 

ประการที่ 4 การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปทำประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม 

ประการที่ 5 การมีโอกาสได้สะท้อนความคิดของตนเองหรือที่เรียกว่า  Self-reflection  เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ครั้งใหม่ต่อไป 

        โดยพื้นที่การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน ต้องการพื้นที่การเรียนรู้ของตนเองมากกว่าการให้ผู้สอนนำมาพิจารณาในการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ดังนั้นผู้สอนควรเชื่อมต่อพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์ เป็น Platform การเรียนรู้ Digital และพื้นที่การเรียนรู้ตามสภาพจริง ซึ่งเป็น Platform การเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนควรได้รับการฝึกทักษะในเรื่องการแสวงหาความรู้ ใช้คำสำคัญหรือแนวคิดหลัก แล้วสรุปสาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก วิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วเชื่อมโยงกับแนวคิดหลักอื่น ๆ และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ผู้เรียนสนใจ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นโค้ชและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน 

        สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน มีกระบวนทัศน์หลัก ได้แก่ 

ประการที่ 1 การออกแบบการจัดการเรียนรู้จะต้องตอบสนองความต้องการ การเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียนได้ 

ประการที่ 2 การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและพอเพียง 

ประการที่ 3 จะต้องให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกเวลาและสถานที่ 

ประการที่ 4 การผสมผสานการเรียนรู้ตามสภาพจริง 

ประการที่ 5 การส่งเสริมวินัยและการเรียนรู้ของผู้เรียน ผ่านการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ 

ซึ่งกระบวนทัศน์ดังกล่าวจะช่วยทำให้ได้การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

        สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานนั้น ในปัจจุบันผู้สอนจะออกแบบการเรียนรู้ในลักษณะผสมผสานระบบการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ การเรียนรู้ในชั้นเรียน การเรียนรู้ในพื้นที่ครอบครัว ชุมชน และการเรียนรู้ออนไลน์อย่างลงตัว ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมี Passion หรือความใฝ่ฝันในการเรียนรู้ 

        ลักษณะการเรียนรู้ตอบสนองความต้องการเรียนรู้ส่วนบุคคลหรือเรียกว่า  Perrsonalized learning  อาจจะเป็นการเรียนรู้แบบทฤษฏีนำปฏิบัติ  ตลอดจนการเรียนรู้ออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนในทุก ๆ  Platform การเรียนรู้ ผู้สอนที่จะออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานจะช่วยพัฒนาศักยภาพ การสร้างสรรค์นวัตกรรมของผู้เรียน  ซึ่งผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นโค้ชของผู้เรียน โดยการกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ  แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม 

        สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานมีลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ การบูรณาการ (Integration) หมายถึง การทำให้บทเรียนมีความสมบูรณ์ สามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเป็นองค์รวม โดยที่การบูรณาการนั้นมีลักษณะ เช่น การบูรณาการเนื้อหาสาระกับเนื้อหาสาระ การบูรณาการเนื้อหาสาระกับวิธีการ การบูรณาการเนื้อหาสาระกับกระบวนการเรียนรู้ การบูรณาการความรู้ ความคิด ค่านิยม และคุณธรรมจริยธรรม การบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติ   การบูรณาการความรู้กับวิถีชีวิตของผู้เรียน เป็นต้น ซึ่งการบูรณาการที่ลงตัวจะช่วยให้การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานมีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน

        สิ่งสำคัญของการบูรณาการที่ผู้สอนให้ความสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การบูรณาการเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เรียกว่า Process Content โดยเนื้อหาสาระที่จะต้องนำมาบูรณาการนั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

        ส่วนที่ 1 ความรู้ หมายถึง Key concept ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 

        ส่วนที่ 2 ทักษะ หมายถึง ทักษะต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เช่น ทักษะการคิด ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการคิดริเริ่ม ทักษะการสื่อสาร ทักษะอาชีพ เป็นต้น 

        ส่วนที่ 3 คุณลักษณะอันพึงประสงคผ์ของผู้เรียน เช่น ความมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เป็นต้น 

        ส่วนที่เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เรียกว่า Learning activities มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งกระบวนการเรียนรู้นี้ จะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนต่อไป เช่น กระบวนการคิด วิเคราะห์ ที่ประกอบด้วยขั้นตอนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 

        ขั้นที่ 1 การจำแนก 

        ขั้นที่ 2 การจัดหมวดหมู่ 

        ขั้นที่ 3 การสรุปอย่างสมเหตุผล 

        ขั้นที่ 4 การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่

        ขั้นที่ 5 การคาดการณ์บนพื้นฐานข้อมูล 

        ซึ่งผู้สอนควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม การเรียนรู้ไปตามแต่ละขั้นตอน โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน ในทำนองเดี่ยวกัน หากผู้สอนใช้กระบวนการทำงาน ในกรณีที่มอบหมายให้ผู้เรียนร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานใด ๆ ผู้สอนควรให้ผู้เรียนใช้กระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนของการเรียนรู้ ได้แก่ 

        ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์งาน

        ขั้นที่ 2 การว่างแผนการทำงาน 

        ขั้นที่ 3 การปฏิบัติตามขั้นตอน 

        ขั้นที่ 4 การประเมินผล 

        โดยใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในยุค  New normal จะตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ตามมาตรฐานหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังนี้ 

        ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ความใฝ่ฝันหรือ Passion ของนักเรียนที่ต้องการประสบความสำเร็จ 

        ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์สาระและกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความใฝ่ฝันของผู้เรียน 

        ขั้นที่ 3 การวิเคราะห์เทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน 

        ขั้นที่ 4 การเตรียมทรัพยากรการเรียนรู้ 

        ขั้นที่ 5 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะเปิดพื้นที่การเรียนรู้

        ขั้นที่ 6 การประเมินประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยี

3. การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

สำหรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ เช่น ศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ศักยภาพในการคิดขั้นสูง  ศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี  เป็นต้น

โดยที่ศักยภาพของผู้เรียนในแต่ละด้านนั้น คือ การที่ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใด ๆ อย่างชัดเจน มีความสามารถในการนำความรู้ใช้ประโยชน์จนเกิดสมรรถนะและพัฒนาต่อยอดไปเป็นศักยภาพ ซึ่งการจัดการเรียนรู้จะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งแต่ระดับความรู้ความเข้าใจไปจนถึงระดับศักยภาพ 

     การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน มีวิธีการที่สำคัญ ได้แก่ 

       1. การพัฒนา  Growth mindset ให้เกิดกับตัวผู้เรียน 

       2. การกระตุ้นผู้เรียนให้มี  Passion  หรือความใฝ่ฝันในการเรียนรู้ 

       3. โค้ชของผู้สอนที่ค่อยชี้แนะให้ผู้เรียนใช้ความสามารถของตนเองในการเรียนรู้ 

     สำหรับ Growth mindset คือ ความเชื่อของผู้เรียนที่มีต่อตนเองว่าตนเองสามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง  ด้วยการใช้ความมุ่งมั้นและพยายาม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ 

     การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มี Growth mindset ไปพร้อมกับการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนใช้ความสามารถสูงสุดของตนเองในการเรียนรู้และเอื้อมต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม   เมื่อผู้เรียนมี Growth mindset แล้วจะมีพฤติกรรมชอบเรียนรู้สิ่งใหม่และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นคุณลักษณะหนึ่งของการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ 

     ปัจจัยการสนับสนุนการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานอีกประเภทหนึ่ง คือ การมี Passion หรือความใฝ่ฝันที่จะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนมี  Passion ในการเรียนรู้ เพราะ Passion เป็นพลังขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน 

     เมื่อผู้เรียนมี Passion ในการเรียนรู้   ผู้เรียนจะใช้ความมุ่งมั่นและพยายามในการปฏิบัติกิจกรรม เกิดการเรียนรู้เชิงลึก หรือ Deep learning จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป ซึ่งจะแต่งต่างจากการที่เรียนรู้โดยไม่มี Passion ที่ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้  

     ดังนั้นการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน จึงเน้นการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เชิงลึก คือ รู้จริง รู้ชัด 

     การที่จะจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เชิงลึกได้หรือรู้จริง รู้ชัดนั้น ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะ Active Learning โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีบทบาทในกิจกรรมการเรียนรู้ อย่างมีชีวิตชีวาและตื่นตัว ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับ Passive learning จะต้องเปลี่ยนจาก Passive learning ไปเป็น Active learnig ซึ่งการเรียนรู้ในบักษณะ Active learning มีลักษณะสำคัญ ได้แก่ 

       1. ผู้เรียนมีเป้าหมายทางการเรียนรู้ของตนเอง 

       2. ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมด้วยความกระตือรือร้น 

       3. ผู้เรียนริเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการปฏิบัติ 

       4. ผู้เรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย 

       5. ผู้เรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

       6. ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ 

     การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในลักษณะ Active Learning ยังคงต้องให้ความสำคัญกับสาระสำคัญของการเรียนรู้ หรือ Main concept ด้วย  ซึ่งหมายถึงลักษณะร่วมที่สำคัญของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขาดองค์ประกอบใดไปไม่ได้และสามารถสรุปอ้างอิงได้ (Generalization) เช่น Concept เรื่องดอกไม้ ประกอบด้วยกลีบดอก เกสร และก้านดอก หรือฟังก์ชัน คือ เซตของคู่อันดับที่สมาชิกตัวหน้าไม่ซ้ำกัน 

     นอกจากนี้ในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนควรมีวิธีการกระตุ้นการคิดขั้นสูงของนักเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้คำถามในลักษณะที่เป็นพลังคำถามหรือเรียกว่า  Power Questions  เป็นคำถามที่กระตุ้นการคิดขั้นสูงของผู้เรียน สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้คำถามที่ดีจะช่วยกระตุ้นการคิดของผู้เรียนได้มาก  นอกจากใช้คำถามแล้วผู้สอนสามารถกระตุ้นการคิดขั้นสูงของผู้เรียนด้วยการโค้ช   ลักษณะการโค้ชจากด้านใน หรือเรียกว่า  Internal Coaching  เป็นการโค้ชที่มุ่งให้เกิด Passion เน้นการกระตุ้นจินตนาการและความใฝ่ฝันในการเรียนรู้ของผู้เรียน   การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ผู้สอนมีบทบาทดังนี้ 

       1. เป็นนั่งร้านทางการเรียนรู้ของผู้เรียน 

       2. การใช้พลังคำถาม 

       3. การชี้แนะเพื่อการรู้คิด 

       4. การสะท้อนคิดตนเอง

       5. การให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

     ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมสร้างศักยภาพทางการเรียนรู้ของผู้เรียน

4.การวัดและประเมินผลในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

สำหรับการประเมินผลนั้นยึดหลักการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในระหว่างการประเมินที่เสริมพลังตามสภาพจริง หรือเรียกว่า  Empowerment Evaluation  เป็นการประเมินที่ให้ความสำคัญกับการนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียนและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

การประเมินที่เสริมพลังตามสภาพจริง มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่

    1. การให้ประเมินหลายฝ่าย เช่น ผู้สอนประเมินผู้เรียน ผู้เรียนประเมินตนเอง หรือการประเมินโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้น 

    2. การใช้วิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ การประเมินจากผลการปฏิบัติ การทดสอบ หรือการรายงานตนเองของผู้เรียน เป็นต้น 

    3. ประเมินตนเองอย่างต่อเนื่องหลายช่วงเวลา เช่น การประเมินก่อนเรียน การประเมินหลังเรียน การประเมินระหว่างเรียน และการประเมินติดตามผล เป็นต้น 

    4. การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์  โดยที่ควรออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์และกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน 

การประเมินการเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน มีแนวทางการประเมินเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ดังนี้ 

    1. Assessment for learning มีลักษณะเป็นการประเมินในขณะการจัดการเรียนรู้

    2. Assessment as learning เป็นการประเมินตนเองของผู้เรียนในขณะปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้

    3. Assessment of learning  เป็นการประเมินผลการเรียนรู้ภายหลังสิ้นการจัดการเรียนรู้ 

    ซึ่งแนวทางการประเมินทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ผู้สอนควรเลือกใช้ให้เหมาะกับกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน 

    สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้นั้น ผู้สอนควรประเมินให้ครอบคลุมทั้งด้านกระบวนการเรียนรู้หรือที่เรียกว่า Process assessment ผลการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า  Product assessment  และความก้าวหน้าทางการเรียนรู้หรือที่เรียกว่า Progress assessment แล้วนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลต่อไป 

    การประเมินยุคใหม่ใน New normal แตกต่างจากการประเมินโดยทั่วไปที่ผู้สอนเป็นผู้ประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  แต่การประเมินยุคใหม่จะเน้นการให้ผู้เรียนประเมินตนเองมากขึ้น ผู้เรียนได้สะท้อนความคิดและถอดบทเรียนนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้การประเมินในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานจึงควรให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ทักษะในการประเมินตนเองมากยิ่งขึ้น

    ดังนั้นการประเมินจึงควรเปลี่ยนการประเมินจากเชิงรับเป็นการประเมินเชิงรุก โดยให้ผู้เรียนประเมินตนเองให้มากขึ้น ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ได้มากกว่าการประเมินแบบเชิงรับ ที่ผู้เรียนต้องรอให้ผู้สอนประเมินแต่เพียงอย่างเดี่ยว 

สำหรับบทบาทผู้สอนในการกระตุ้นให้ผู้เรียนประเมินตนเองในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานนั้นประกอบด้วย 

    1. สร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือ Trust 

    2. กระตุ้นผู้เรียนให้เห็นคุณค่าของการประเมินตนเอง

    3. อำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือประเมินเพื่อให้ผู้เรียนมีแนวทางในการประเมินตนเอง

    4. ตรวจสอบผลการประเมินตนเองของผู้เรียนแล้วให้ข้อมูลย้อนกลับ

    5. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนคิดและถอดมาเรียน 

สำหรับการเลือกใช้วิธีการประเมินที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น หากพิจารณาตามแผนภาพที่แสดงให้เห็นนี้จะพบว่า ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการประเมินที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่ต้องการพัฒนาให้เกิดกับผู้เรียน 

    กล่าวโดยสรุป คือ ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการประเมินที่มีตัวอักษร H ซึ่งหมายถึงเป็นวิธีการประเมินที่มีประสิทธิภาพสูงให้ผลการประเมินที่เชื่อถือได้และมีสารสนเทศสำหรับนำไปพัฒนาผู้เรียนต่อไป เมื่อทำการประเมินผลการเรียนแล้วสิ่งที่ผู้สอนจะต้องดำเนินการต่อไป คือ การให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ที่เป็นการเสริมพลังการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้น หลักการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ประกอบด้วย 

    1. การให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ว่าผลการประเมินจะเป็นอย่างไร ผู้เรียนจะต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบ 

    2. ให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยวิธีการที่นุ่มนวล สอดคล้องกับระดับความรู้และวุฒิภาวะของผู้เรียน 

    3. เลือกเวลาและสถานที่ในการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างเหมาะสม การให้ข้อมูลย้อนกลับที่ดี ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาขึ้นนั้น ผู้สอนควรให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ผลการเรียนรู้ จุดแข็ง จุดที่ควรปรับปรุงและที่สำคัญคือการชี้แนะแนวการปรับปรุงและพัฒนาตนเองของผู้เรียนรายบุคคล  

    นอกจากนี้การให้ Feedback ยุคใหม่ ยังใช้การสื่อสารเชิงบวกด้วยความจริงใจ ช่วยกระตุ้น Passion เสริมสร้าง Growth mindset และส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้เรียนไปเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองหรือที่เรีกว่า Feed forward ที่เป็นการสร้างศักยภาพผู้เรียน ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานอีกด้วย 

เทคนิคง่าย ๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การให้ผู้เรียนถอดบทเรียนของตนเอง โดยตอบคำถามหลังการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ 3 ประการตามลำดับ ไดแก่

    1. ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้เป็นอย่างไร 

    2. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้คืออะไร 

    3. จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร 

ซึ่งการให้ผู้เรียนถอดบทเรียนของตนเองจะช่วยทำให้การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน มีควาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้สอนควรพิจารณานำไปใช้ในการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน

ขอบคุณที่มา : Plook Teacher

บมความล่าสุด

ทิ้งคำตอบไว้

Please rate*
กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -
Google search engine

ยอดนิยม